วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

plasticsurgery-hayhar.com การผ่าตัดแปลงเพศ ( 2 )


การผ่าตัดแปลงเพศ ( 2 ) ต่อ

ข้อแทรกซ้อนและผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดแปลงเพศนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ พอสรุปปัญหาและการแก้ไขได้ดังต่อไปนี้
Ø แผลผ่าตัดแยก หรือหายไม่สนิท : พบได้บ่อยพอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากแผลผ่าตัดบริเวณนี้มีการเย็บต่อกันด้วยผิวหนังจากหลายส่วน ทำให้มีรอยต่อระหว่างรอยเย็บหลายแห่ง จึงเป็นไปได้ที่แต่ละตำแหน่งอาจจะมีโอกาสที่จะแยกออกจากกันได้ รวมทั้งการดูแลหลังผ่าตัดที่ไม่เหมาะสมหรือการใช้งานอวัยวะเพศใหม่เร็วเกินกำหนด จะมีโอกาสที่แผลจะเกิดปัญหาได้ แต่หากการแยกของแผลไม่กว้างมากหรือไม่หลุดออกจนหมดสามารถที่จะรักษาให้หายสนิทได้ในที่สุด แต่บางรายแพทย์อาจจะต้องทำการเย็บแผลให้ใหม่
Ø ช่องคลอดใหม่หลุด หรือลอก : เกิดในกรณีที่ช่องคลอดใหม่ยังไม่ยึดติดกับช่องที่แพทย์เจาะไว้ให้ และมีการใช้งานหรือการดูแลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผิวหนังช่องคลอดปลิ้นหลุดออกกมาด้านนอก ในกรณีที่เกิดขึ้นแบบนี้ แพทย์มีความจำเป็นต้องจัดผิวหนังช่องคลอดให้ใหม่เพื่อให้ผิวบุช่องคลอดใหม่อยู่ในสภาพเดิม
Ø ช่องคลอดตีบ หรือปากช่องคลอดหดแคบ : เกิดได้จากการเจาะช่องคลอดให้ได้ไม่กว้างเพียงพอ อาจจะเนื่องจากโครงสร้างของเชิงกรานมีมุมแคบเกินไปที่จะทำช่องให้กว้างได้มาก หรือเกิดจากพังผืดหดรัดบริเวณช่องคลอดใหม่ และการดูแลถ่างช่องคลอดหลังการผ่าตัดโดยผู้ป่วยเองทำได้ไม่เพียงพอ ในระหว่างที่ช่องคลอดยังไม่อยู่ตัวดี ทำให้ช่องคลอดตีบตัวลงมา และมีการคอดรัดของปากช่องคลอด ในกรณีที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัดไม่นาน การถ่างขยายด้วยอุปกรณ์ถ่างช่องคลอดและเพิ่มขนาดตัวถ่างจะช่วยให้มีการยืดตัวของพังผืดรอบ ๆ ได้ และช่องคลอดสามารถขยายตัวจนมีความกว้างที่เหมาะสมได้ แต่หากพังผืดติดแข็งมาก แพทย์อาจจะต้องผ่าตัดขยายช่องคลอดให้ใหม่

Ø ช่องคลอดตื้น : เป็นผลตามมาที่พบได้บ่อย ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างช่องคลอดใหม่นั้นมีความจำเป็นต้องอาศัยผิวหนังจากอวัยวะเพศชายที่มีอยู่เดิม ซึ่งบางรายมีขนาดเล็กและยาวไม่มาก ช่องคลอดที่ได้จึงมีความตื้น และบางครั้งมีการหดตัวของช่องคลอดเนื่องจากพังผืด และเนื่องจากการถ่ายด้วยอุปกรณ์ถ่างช่องคลอดที่ไม่เพียงพอร่วมด้วยจึงทำให้ความลึกของช่องคลอดใหม่มีไม่เพียงพอแก่การใช้งานตามปกติ หากเกิดขึ้นในระยะแรก อาจจะช่วยได้โดยการใช้อุปกรณ์ถ่างขยายช่องคลอด เพื่อเพิ่มความลึกให้มากขึ้น แต่หากเกิดขึ้นในระยะหลังและไม่สามารถขยายด้วยอุปกรณ์แล้ว การผ่าตัดแก้ไขมีความจำเป็นอาจจะต้องใช้เนื้อเยื่ออื่น ๆ มาทดแทนเพื่อสร้างช่องคลอดใหม่ เช่นการใช้ลำไส้ใหญ่เป็นต้น
Ø ท่อปัสสาวะตีบ : พบได้บ่อย เนื่องจากท่อปัสสาวะที่สร้างขึ้นใหม่ มีพังผืดล้อมรอบบริเวณรูเปิดทำให้การไหลของปัสสาวะไม่สะดวก หากเกิดขึ้นแล้วการรักษาโดยการถ่ายขยายท่อปัสสาวะด้วยเครื่องมือสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ทั้งนี้เป็นการรักษาที่ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง หากเกิดอาการตีบรุนแรง จนปัสสาวะไม่ค่อยออก แพทย์อาจจะต้องทำการผ่าตัดแก้ไขท่อปัสสาวะให้กว้างขึ้นอีกครั้ง
Ø ช่องคลอดทะลุเข้าในช่องท้องหรือลำไส้ใหญ่ : เป็นข้อแทรกซ้อนที่ค่อนข้างจะรุนแรงและแก้ไขยาก เกิดเนื่องจากการดูแลหลังการผ่าตัดที่ไม่เหมาะสม เช่นใช้งานเร็วเกินไป การใช้อุปกรณ์ถ่างขยายที่ใหญ่หรือลึกเกินไป รวมทั้งการผ่าตัดที่เกิดการทะลุเข้าในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการติดต่อระหว่างช่องคลอดและลำไส้ใหญ่ขึ้น การรักษาจะทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไขใหม่ โดยอาจจะเย็บซ่อมรูทะลุได้ถ้าหากรูไม่ใหญ่เกินไปแต่หากมีการทะลุรุนแรงและเป็นรูใหญ่มาก และไม่สามารถเย็บซ่อมได้ อาจมีความจำเป็นต้องแก้ไข โดยการระบายอุจจาระออกทางหน้าท้องก่อนระยะหนึ่ง เพื่อมิให้อุจจาระมาปนเปื้อนบริเวณรูทะลุ หลังการเย็บซ่อมรูทะลุนั้น และเมื่อรูทะลุปิดดีแล้ว จึงค่อยผ่าตัดทำช่องคลอดให้ใหม่ด้วยลำไส้ใหญ่ส่วนปลายต่อไป
Ø การหลุดลอกของปุ่มคลิตอริสที่แพทย์สร้างให้ใหม่ : การสร้างปุ่มคลิตอริสใหม่ร่วมกับการผ่าตัดแปลงเพศนั้น เป็นการผ่าตัดที่มีโอกาสกระทบกระเทือนต่อเส้นเลือดที่มาเลี้ยงปุ่มคลิตอริสได้ เนื่องจากเส้นเลือดและเส้นประสาทบริเวณนี้มีโอกาสถูกกดทับได้ง่าย ดังนั้นอาจทำให้ปุ่มคลิตอริสเกิดการขาดเลือดมาเลี้ยงและมีการลอกหลุดหรือบางครั้งตายไปได้ หากแก้ไขได้ทันท่วงที จะสามารถเก็บปุ่มคลิตอริสให้กลับคืนมาได้และใช้งานได้ตามปกติ ในกรณีที่แก้ไขไม่ได้และปุ่มคลิตอริสตายไป จะเหลือเพียงบางส่วนซึ่งอาจทำให้การใช้งานของปุ่มนี้ในการรับความรู้สึกได้ไม่เต็มที่
สรุป : จะเห็นได้ว่า เมื่อดูโดยรวมแล้ว การผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของกระบวนการรักษา ผู้ป่วยที่มีภาวะการรับรู้เพศไม่ตรงกับสภาพร่างกาย ที่ไม่สามารถบำบัดด้วยวิธีทางจิตบำบัดแล้วเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด และหากผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ผู้ป่วยสามารถมีชีวิต
ในสังคมได้อย่างมีความสุขและสร้างประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่ในอีกแง่หนึ่งหากทำการรักษาโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกขั้นตอน เช่นผ่าตัดแปลงเพศเนื่องจากคำชักชวนของเพื่อน หรือเพื่อหวังผลด้านการพาณิชย์ หรือไม่มีการเตรียมผู้ป่วยทั้งการกายและใจก่อนผ่าตัดที่ดี อาจจะส่งผลต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ทั้งในแง่ของร่างกาย ที่ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ และทางด้านจิตใจที่อาจจะประสบปัญหาในการใช้ชีวิตในสังคมและคนรอบข้างได้ ในที่สุดจะส่งผลต่อการรักษาที่ล้มเหลวได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น